:. การเขียนบท .:

.....ภาพยนตร์จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเขียนบทที่ต้องมีเนื้อหาและการนำเสนอที่เหมาะสม นอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้
.....1.วัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ชม ต้องกำหนดว่าใครบ้างที่เป็นกลุ่มผู้ชม เพื่อที่จะได้เลือกตัวอย่าง ตลอดจนการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้ชม
.....2.การศึกษาค้นคว้า การค้นคว้ายิ่งละเอียดรอบคอบเพียงใด ย่อมทำให้ภาพยนตร์ที่เขียนหรือสร้างถูกต้อง สมจริงและน่าเชื่อถือ สำหรับวิธีการศึกษาค้นคว้า นอกจากการอ่านเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียน รวมทั้งศึกษาจากสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังทำได้ด้วยการสังเกตการณ์และรับฟังข้อมูลจากเจ้าของหน่วยงาน หรือผู้บริหารกิจการนั้นๆ ซึ่งสามารถนำมาเสริมเติมแต่งในบทภาพยนตร์ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
.....3.การจัดลำดับข้อมูลหรือเนื้อหา ผู้เขียนบทต้องดูว่าข้อมูลใดน่าสนใจและจะดึงดูดผู้ชมได้ตั้งแต่เริ่มเรื่อง จากนั้นจะต่อเนื่องด้วยเนื้อหาใด เพื่อที่จะให้ผู้ชมเข้าใจและดึงความสนใจของผู้ชมให้คงอยู่ และจะใช้อะไรผูกมัดใจให้ผู้ชมประทับใจในตอนจบเรื่อง
.....4.ความยาว บทถ่ายทำภาพยนตร์บันเทิงส่วนใหญ่ ซึ่งมีความยาวเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมง ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง จะมีขนาดราว 150 หน้าโดยประมาณ แต่สำหรับภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ แล้ว มักจะมีความยาวไม่เกิน 30 นาที หรือน้อยกว่านั้น

โครงสร้างการเขียนบท

.....1.จุดเริ่มต้น (BIGINNING) ช่วงของการเปิดเรื่อง แนะนำเรื่องราว ปูเนื้อเรื่อง
.....2.
การพัฒนาเรื่อง (DEVELOPING) การดำเนินเรื่อง ผ่านเหตุการณ์เดียวหรือหลายเหตุการณ์ เนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนมากขึ้น
.....3.จุดสิ้นสุด (ENDING) จุดจบของเรื่อง แบ่งออกเป็นแบบสมหวัง (Happy ending) ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ และแบบผิดหวัง (Sad ending) ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ

ปัจจัยสำคัญในโครงสร้างบท

.....1.แนะนำ (INTRODUCTION) เป็นการแนะนำเหตุการณ์ สถานการณ์ สถานที่ ตัวละคร สิ่งแวดล้อม และเวลา
.....2.สร้างเงื่อนไข (SUSPENSE) เป็นการกระตุ้นให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างลึกลับมีเงื่อนไข มีปมผูกมัด ความขัดแย้ง ทำให้ผู้ชมเกิดความสงสัยและสนใจในเหตุการณ์
.....3.สร้างวิกฤตกาล (CRISIS) เป็นการเผชิญปัญหา วิเคราะห์ปัญหาของตัวละคร และหาทางแก้ไข หากตัวละครวนเวียนอยู่กับปัญหานานเกินไป จะทำให้ผู้ชมรู้สึกหนักและเบื่อขึ้นได้ ควรที่จะมีการกระตุ้นจากเหตุการณ์อื่นมาแทรกด้วย
.....4.จุดวิกฤตสูงสุด (CLIMAX) เป็นช่วงเผชิญหน้ากับปัญหาครั้งสุดท้ายที่ถูกบีบกดดันสูงสุด ทำให้มีการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด
.....5.ผลสรุป (CONCLUSION) เป็นการสรุป ทำให้เกิดความกระจ่าง ภาพยนตร์บางเรื่องอาจไม่มีบทสรุป เพื่อให้ผู้ชมนำกลับไปคิดเอง

คุณสมบัติของผู้เขียนบทภาพยนตร์

.....1.มีความสามารถในการเขียน เพื่อถ่ายทอดความคิดหรือจินตนาการออกมาเป็นภาษาเขียนที่ชัดเจน เข้าใจ และเกิดภาพลักษณ์ได้
.....2.มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดสิ่งใหม่ๆ หรือมองดูสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่คนอื่นมอง ไม่เห็น แล้วหยิบยกมาใช้ในการเขียนบท
.....3.เป็นนักเล่าเรื่องที่ด รู้จักใช้เทคนิคในการเล่าเรื่อง
.....4.เป็นนักสังเกตที่ดี มีความสามารถในการมองเห็นว่าบุคลิกของตัวละครเช่นไร สถานการณ์แบบไหน ที่จะส่งผลให้เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ดำเนินไปในทิศทางใด
.....5.มีนัยน์ตาแบบช่างภาพ หูแบบช่างเสียง เพื่อที่จะสามารถคิดเป็นภาพได้ในขณะเขียนบท และได้ยินเสียงตัวละครโต้ตอบกันในความคิด
.....6.มีความรู้ในเรื่องการใช้เสียงประกอบ เพื่อช่วยสร้างอารมณ์ร่วมและเร้าความรู้สึกของผู้ชม อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนอารมณ์ของเรื่องเมื่อขึ้นฉากใหม่
.....7.มีความรู้เล็กน้อยในเรื่องการผลิตหรือเทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ เพื่อที่จะรู้ว่าบทที่เขียนเหมาะสมและสะดวกต่อการทำงานของช่างภาพหรือไม่ ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดขนาดภาพ มุมกล้อง ตลอดจนการเชื่อมต่อภาพ จะช่วยให้การคิดเป็นภาพของนักเขียนบทภาพยนตร์ชัดเจนขึ้น และสื่อความหมายในการทำงานร่วมกันในหน่วยงานเล็กๆ ได้สะดวก


Webmaster :
Saranya Akrapranwat

Contact :
photodept@hotmail.com



 

 



Copyright ©2004 By www.btc.rit.ac.th/photodepartment All Rights Reserved


เว็บนี้ควรเข้าชมด้วย Internet Explorer 4.0 ขึ้นไป ขนาดตัวอักษร Medium Text Size และขนาดหน้าจอ 800X600 pixel
และรับชมได้เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น (Thai Langague Only)